วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ชนิดของคำ

ชนิดของคำ
             คำเป็นหน่วยสำคัญพื้นฐานในการเรียนรู้เรื่องประโยค ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด
             คำไทย ไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อบอกหน้าที่แตกต่างกันทางไวยากรณ์ หรือ เพื่อบอกความสัมพันธ์ของคำที่เรียงกันอยู่ในประโยค
              ความสัมพันธ์ของคำแสดงด้วยการปรากฎร่วมกันของคำและตำแหน่งหรือลำดับที่ปรากฏก่อนหลังของคำ เมื่อคำปรากฏร่วมกันอาจทำหน้าที่แยกกันหรือรวมเข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียวและทำหน้าที่เดียวกันก็ได้
                      เกณฑ์การจำแนกชนิดของคำมีหลายเกณฑ์   เช่น
*พระยาอุปกิตศิลปสาร จำแนกชนิดของคำออกเป็น ๗ ชนิด
*วิจินตน์ ภาณุพงศ์ จำแนกชนิดของคำออกเป็น ๒๖ ชนิด(เรียกชนิดของคำว่าหมวดคำ)
*นววรรณ พันธุเมธาจำแนกชนิดของคำออกเป็น ๖ ชนิด(เรียกชนิดของคำว่าหมวดคำ)
*หนังสืออุเทศภาษาไทย ชุด บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๓ จำแนกชนิดของคำไทยออกเป็น ๑๒ ชนิด
*หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ ๔ กระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวถึงการแบ่งตามแบบพระยาอุปกิตศิลปสาร ชนิดของคำไทย ดังนี้
           ๑. คำนาม เป็นคำบอกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น  คำนามแบ่งเป็น ๕ พวกคือ
               (๑) สามายนาม คือนามที่เป็นชื่อทั่วไป เช่น คน บ้าน เวลา
               (๒) วิสามายนาม คือนามที่เป็นชื่อเฉพาะ
               (๓) สมุหนาม คือ นามที่เป็นชื่อ คน สัตว์ และสิ่งของที่อยู่รวมกันมากด้วยกัน เช่น ภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เรียกว่าสงฆ์  ข้างหลายตัวรวมกันเรียกว่าโขลง
                (๔) ลักษณะนาม คือ คำนามที่บอกลักษณะของสามมายนามอีกทีหนึ่ง เช่น คำเรียก พระว่ารูป  เรียกสัตว์ว่าตัว เรียกเรือว่าลำ
                 (๕) อาการนาม คือนามที่เป็นชื่อแห่งกิริยาอาการ หรือความปรากฏเป็นต่างๆแห่งคน สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งเนื่องมาจากคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เช่น  การเดิน การกิน การอยู่ ความงาม ความสุข
           ๒. สรรพนาม เป็นคำใช้แทนชื่อต่างๆ
           ๓. คำกริยา เป็นคำบอกอาการของคน สัตว์ สิ่งของ
           ๔. คำวิเศษณ์ เป็นคำประกอบคำอื่นให้มีความต่างออกไป
           ๕. คำบุพบท เป็นคำสำหรับนำหน้านามและสรรพนาม
           ๖. คำสันธาน เป็นคำเชื่อมคำ หรือความให้ติดต่อกัน
           ๗. คำอุทาน เป็นคำบอกเสียงต่างๆ




วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ระดับภาษา


ระดับภาษา




         ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความรู้ ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ ทัศนคติ และใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
          ระดับภาษาเป็นเรื่องของความเหมาะสมในการใช้ภาษาตามสัมพันธภาพของบุคคล ตามโอกาส กาลเทศะ และประชุมชน เพื่อให้สัมฤทธิ์สมความมุ่งหมาย

                           การแบ่งภาษาเป็นระดับต่างๆ
                                  แบ่งโดยละเอียด ๕ ระดับ
                                        ๑. ระดับพิธีการ
                                        ๒. ระดับทางการ
                                        ๓. ระดับกึ่งทางการ
                                        ๔. ระดับไม่เป็นทางการ
                                        ๕.  ระดับกันเอง




ภาษาระดับพิธีการ
           ใช้สื่อสารในที่ประชุมที่จัดขึ้นเป็นพิธีการ   เช่น การเปิดประชุมรัฐสภา การกล่าวอวยพร การกล่าวต้อนรับ การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร การกล่าวสดุดี หรือการกล่าวเพื่อจรรโลงใจให้ประจักษ์ในคุณงามความดี การกล่าวปิดพิธี ฯลฯ

ภาษาระดับทางการ
           ใช้บรรยายหรืออภิปรายอย่างเป็นทางการในที่ประชุม หรือใช้เขียนข้อความที่จะให้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นการเป็นงาน การใช้ภาษาระดับนี้ เช่น    การประชุมที่ต่อจากช่วงที่ต้องทำตามพิธีการแล้ว   หนังสือที่ใช้ติดต่อกับทางการ หรือวงการธุรกิจ
           หลักการใช้ภาษาระดับนี้   ใช้ภาษาตรงไปตรงมา เน้นการสื่อสารให้ได้ผลตามจุดประสงค์ โดยประหยัดถ้อยคำ ประหยัดเวลาให้มากที่สุด

ภาษาระดับกึ่งทางการ 
         มักใช้ในการประชุมกลุ่ม หรืออภิปรายกลุ่ม ที่เล็กลงกว่าในระดับทางการ การใช้ภาษาระดับกึ่งทางการเช่นการบรรยายในห้องเรียน ข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์
         การใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกว่าภาษาในระดับที่ ๒  เนื้อหาของสารมักเป็นความรู้ทั่วไป การแสดงความเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต รกิจ มักใช้ศัพท์วิชาการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้บุคคลที่ไม่ได้เรียนรู้ด้านนั้นๆโดยตรงสามารถรับสารได้เข้าใจตรงตามจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร

ภาษาระดับไม่เป็นทางการ
           มักใช้ในการสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลไม่เกิน ๔-๕ คน ในเวลาและสถานที่ไม่ใช่ส่วนตัว เช่น การเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน การรายงานข่าว การเสนอบทความในหนังสือพิมพ์
           เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน กิจธุระต่างๆ

ภาษาระดับกันเอง
            ภาษาระดับนี้ใช้ในวงจำกัด เช่น ภาษาที่ใช้ในครอบครัว หรือใช้ระหว่างเพื่อนสนิท สถานที่ใช้มักเป็นที่ส่วนตัว เช่น บ้าน
                                                     ข้อสังเกตบางประการเรื่องระดับภาษา
             ๑. ภาษาระดับหนึ่งอาจเหลื่อมล้ำกับอีกระดับหนึ่ง เช่น ระดับ ๒ ,๓ อาจใช้ปะปนกันหรือระดับ ๓,๔ อาจใช้ด้วยกันบ้าง เป็นต้น
             ๒. บุคคลแต่ละคนอาจจะไม่มีโอกาสใช้ภาษาครบทั้ง๕ระดับ แต่ทุกคนย่อมต้องใช้ระดับ ๓,๔ อยู่เสมอๆ
             ๓. ถ้าใช้ระดับภาษาไม่เหมาะสมแก่กาลเทศะและโอกาสก็จะเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ผู้รับสารอาจเห็นไปว่า ผู้ส่งสารเสแสร้ง ไม่จริงใจ หรือไม่รู้กาลเทศะ เป็นต้น 


ปัจจัยที่กำหนดระดับภาษา
            ๑. โอกาสและสถานที่
            ๒. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
            ๓. ลักษณะของเนื้อหา
            ๔. สื่อที่ใช้
ลักษณะของภาษาระดับต่างๆ
            ๑. การเรียบเรียง
            ๒. กลวิธีนำเสนอ
            ๓. ถ้อยคำที่ใช้
                     - คำสรรพนาม
                     - คำนาม
                     - คำกริยา
                     - คำวิเศษณ์

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สาเหตุของความเปลี่ยนแปลงภาษา

                                              สาเหตุที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง

 ๑. ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
        คำเกิดใหม่ตามสิ่งแวดล้อม  เช่น ตู้เย็น พัดลม  โทรศัพท์ไร้สาย  มีการกำหนดคำขึ้นใช้เป็น     ศัพท์บัญญัติ เช่น
           ศัพท์บัญญัติที่เป็นคำประสม เช่น
                - เหตุจูงใจ (motive)
                - หนังสืออ้างอิง(reference book)
                - วิชาบังคับ (required course)
                - แบบสอบถาม (questionnaire)
          ศัพท์บัญญัติที่เป็นคำซ้อน  เช่น  
                 - ผลลัพธ์ (result)     - ทรัพย์สิน(asset)   -ดัดแปลง(adapt)  
                 - ทดสอบ (test)        - ระเบียบ (order)   -ระเบียน(record)

 ๒.ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคม
           คนบางกลุ่มในสังคม เช่น สื่อมวลชน วัยรุ่น มักสร้างคำสำนวนขึ้นใช้เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่
 เช่น สร้างคำว่า สตอเบอรี่ งานเข้า ตัวแม่ แอ๊บแบ๊ว (คำเหล่านี้ เรียกกันว่า คำสแลง)
๓. อิทธิพลของภาษาอื่น 
           มีการติดต่อสื่อสารกับวัฒนธรรมอื่น จึงยืมคำหรือรูปประโยคมาใช้ในภาษาไทย เช่น
                ก. อิทธิพลภาษาบาลีสันสกฤตและเขมร เช่น เบญจางคประดิษฐ์     บรมโพธิสมภาร   อาจ  ทำให้มีคำมากพยางค์ขึ้น และบางเสียงมีตัวสะกดมากขึ้น
                ข. อิทธิพลภาษาจีน   เช่น เก๋ง ก๋วยเตี๋ยว เฉาก๋วย  ตั๋ว ทำให้คำเสียงตรีหรือจัตวามีมากขึ้นในภาษาไทย
                ค. อิทธิพลภาษาอังกฤษ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
                       - คำไทยทั่วไปไม่มีพยัญชนะควบกล้ำ ดร มร ฟร บล ฟล แต่ยืมอังกฤษแล้วมี เช่น     ดรีมไบรต์ ฟรี เบลอ แฟลต 
                       - คำไทยทั่วไปไม่มีพยัญชนะที่เป็นตัวสะกด ล ส ฟ แต่คำยืมอังกฤษมี เช่น
ฟุตบอล โบนัส ยีราฟ
                      - คำไทยทั่วไปไม่มีพยัญชนะท้ายหลังสระ ไอ หรือ เอา แต่คำยืมอังกฤษมี เช่น
 ไวน์  น็อกเอาต์

๔. อิทธิพลของภาษาถิ่น
              ภาษาไทยทีใช้ในท้องถิ่นต่างๆในประเทศไทย แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์แบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ
        ๑. ภาษาภาคเหนือ หรือภาษาเหนือได้แก่ภาษาที่พูดในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย  เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่  น่าน ลำพูน ลำปาง
        ๒. ภาษาภาคอีสาน หรือภาษาถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ภาษาที่พูดในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น  นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครพนม สกลนคร
        ๓. ภาษาภาคใต้ หรือภาษาถิ่นปักษ์ใต้ ได้แก่ภาษาที่พูดในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ปัตตานี
            ความแตกต่างมีได้ดังนี้
             ๑. ภาษาถิ่นหนึ่งมีเสียงที่ภาษาถิ่นอื่นไม่มี เช่น เสียง ร มีในภาษากรุงเทพฯ ไม่มีในภาษาเชียงใหม่ อุบล และสงขลา  ( กระทรวงศึกษา :  หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ : ๒๕๕๕) เป็นต้น
             ๒. เสียงหนึ่งในภาษาถิ่นหนึ่งกลายเป็นเสียงอื่นในภาษาอีกถิ่นหนึ่ง เช่น
 พยัญชนะมีกลุ่มลมตาม ค พ ท ในภาษากรุงเทพ จะเป็นพยัญชนะไม่มีกลุ่มลมตาม ก ป ต ในภาษาเชียงใหม่
              ๓. คำในภาษาถิ่นหนึ่งอาจจะมีเสียงใกล้เคียงกับอีกถิ่นหนึ่ง แต่ความหมายต่างกัน เช่น
พริก   ภาษากรุงเทพ หมายถึง พริกไทย พริกต่างๆ
  -      ภาษาภาคใต้   หมายถึง พริกไทยเท่านั้น พริกอื่นๆ สงขลาเรียก ดีปลี สุราษฎร์ธานี เรียก ลูกเผ็ด
น้ำผึ้ง ภาษากรุงเทพ หมายถึง น้ำหวานที่ได้จากผึ้ง
   -     ภาษาภาคใต้   หมายถึง   น้ำตาลทั่วไป


วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

 การเปลี่ยนแปลงของภาษา
           
 มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
                   - การเปลี่ยนแปลงคำ
                   - การเปลี่ยนแปลงรูปประโยค

            - การเปลี่ยงแปลงคำ
                            ๑. การเปลี่ยนแปลงทางเสียงของคำ
                            ๒. การเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำ
                            ๓. การเลิกใช้คำเดิมแล้วเปลี่ยนเป็นคำใหม


          การเปลี่ยนแปลงรูปประโยค
                             ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปประโยค
                             ๑. ประโยคกรรมมีมากขึ้น เช่น
                                                      วันเดินทางฉันยังไม่ได้กำหนด
                                                      คนร้ายถูกตำรวจจับได้แล้ว
                                                     รถยนต์จำนวนมากถูกผลิตที่เมืองนี้

                                ๒.มีประโยคที่ใช้ สรรพนาม "มัน" ขึ้นต้นประโยค โดยที่สรรพนามมันไม่ได้แทนที่ สัตว์หรือสิ่งของ   เช่น
                                                   มันถึงเวลาแล้วที่ต้องขยัน
                                                   มันเป็นการง่ายที่จะเข้าใจผิด
                                                   มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอบรมลูก
                              ๓. ประโยคต่างๆมีบุพบทโดยไม่จำเป็นต้องมีมากขึ้น ทำให้ประโยคยาวขึ้น  เช่น
                                                   ส่วนมากของเอกสารได้สูญหายไป
                                                   โครงการภายใต้การนำของ ดร.บัวตอง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
                              ๔. ประโยคต่างๆมีอาการนามมากขึ้น เช่น
                                                    การสะดุดหยุดลงของการค้าทำให้พวกพ่อค้าสูญหายไป
                                                    การกวาดล้างผู้ประกอบมิจฉาชีพได้ผลดีสงผลให้อาชญากรรมลดลง   
                               ๕.มีประโยคที่นำส่วนขยายมาไว้ต้นประโยค   เช่น
                                                  จากการตรวจค้นภายในรถ ตำรวจพบหลักฐานหลายอย่าง 
                                                  เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระผมไม่มีความเห็น                     








ธรรมชาติภาษา  ข้อน่าสังเกต ๓ ประการ

๑. ภาษาประกอบด้วยหน่วยเสียงในภาษา
๒.เสียงของคำส่วนใหญ่ในภาษาไม่สัมพันธ์กับความหมาย
๓.ภาษาใช้สื่อสารได้ตามเจตนาต่างๆ
          

               พันธกิจของภาษา
๑.ภาษาช่วยธำรงสังคม
๒.ภาษาแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล
๓.ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนา
๔.ภาษาช่วยกำหนดอนาคต
๕.ภาษาช่วยกำหนดอนาคต
๖. ภาษาช่วยจรรโลงใจ






การวัดและประเมินผลรายวิชา ท๓๐๑๐๕ หลักภาษาไทยใยชีวิตประจำวัน

                   การสอบกลางภาค เนื้อหาที่ใช้ในการสอบ
๑. เสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ พยางค์
๒. คำ การสร้างคำในภาษาไทย
                   การสอบปลายภาค เนื้อหาที่ใช้ในการสอบ
๑.ประโยค
๒.ระดับภาษา/ราชาศัพท์

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คำอธิบายรายวิชา

คำอธิบายรายวิชา ท๓๐๑๐๕ หลักภาษาไทยในชีวิตประจำวัน
                                    ศึกษาการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันของคนไทยจากสื่อต่างๆ ทั้งในด้านการพูดและการเขียน มีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของภาษา พันธกิจของภาษา พลังของภาษา ลักษณะของภาษา ศึกษาส่วนประกอบของภาษา ลักษณะข้อควรสังเกตบางประการของภาษาไทย เรียนรู้ชนิดของคำ กลุ่มคำและประโยค ใช้ภาษาถูกต้องตามระดับภาษาเหมาะสมแก่กาลเทศะและบุคคล อธิบายคำมูลและวิเคราะห์ หลักการสร้างคำในภาษาไทย (คำซ้ำ คำซ้อน คำประสม) คำสมาส วิเคราะห์ลักษณะภาษาต่างประเทศในภาษาไทย  เห็นคุณค่าภาษาไทยและใช้เลขไทย

จุดประสงค์การเรียนรู้ท๓๐๑๐๕ หลักภาษาไทยในชีวิตประจำวัน
    ๑.  อธิบายธรรมชาติ พันธกิจ พลังและการเปลี่ยนแปลงภาษาได้
    ๒.  บอกลักษณะและข้อควรสังเกตบางประการของภาษาไทยได้
    ๓.  บอกเรื่องเสียงสระ วรรณยุกต์ พยัญชนะและพยางค์ได้
    ๔.  วิเคราะห์ลักษณะของคำมูลและการสร้างคำ คำซ้ำ คำซ้อน คำประสม คำสมาสได้
    ๕.  วิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำตามหลักภาษาได้
    ๖.  วิเคราะห์การใช้ถ้อยคำสำนวน ระดับภาษา และใช้ได้ถูกต้องตรงตามเจตนาของ
          การสื่อสารได้
    ๗.  วิเคราะห์คำต่างประเทศในภาษาไทยได้
    ๘.  วิเคราะห์ประโยคชนิดต่างๆได้
    ๙.  ใช้พจนานุกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   ๑๐.   ใช้เลขไทยรายวิชาภาษาไทย